Bangkok, Thailand


วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

Canada

แคนาดา
Canada


ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง :
ตั้งอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ และทางตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทางตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์คติก และทางใต้ติดกับประเทศสหรัฐอเมริกา

พื้นที่ 9,976,140 ตารางกิโลเมตร ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

เมืองหลวง กรุงออตตาวา (Ottawa)

เมืองสำคัญ โทรอนโต(Toronto) มอนทรีออล(Montreal) แวนคูเวอร์ (Vancouver)
ควิเบก ซิตี้ (Quebec City) แฮลิแฟ็กซ์ (Halifax) วินนิเป็ก (Winnipeg) เอ็ดมันตัน
(Edmonton)

ภูมิอากาศ ภาคพื้นทวีป (มีหิมะในฤดูหนาว และอบอุ่นในฤดูร้อน)

ประชากร 33.2 ล้านคน (กรกฎาคม 2551)

ภาษา อังกฤษและฝรั่งเศส

ศาสนา โรมันคาธอลิก (ร้อยละ 42.6) โปรแตสแตนท์ (ร้อยละ 23.3) อิสเทอร์นออโธดอกซ์ และยิว (ร้อยละ 18)
อิสลามและพุทธศาสนามีอัตราเพิ่มค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายการรับคนนอกประเทศมาตั้งถิ่นฐาน

หน่วยเงินตรา แคนาเดียนดอลลาร์ (1 CAD ประมาณ 33.72บาท) (2 สิงหาคม 2549)

GDP 1,274 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ 2550)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 38,200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการ 2550)

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 39.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณการ 2550)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.6 (ประมาณการ 2550)
วันชาติ 1 กรกฎาคม

ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)

ระบบการปกครอง สมาพันธรัฐ (Confederation) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น
10 มณฑล (Province) และ 3 เขตปกครองพิเศษ (Territory) โดยแต่ละมณฑลมีมุขมนตรี (Premier) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย

1. Ontario 2. Quebec

3. Nova Scotia 4. New Brunswick

5. Manitoba 6. British Columbia

7. Prince Edward Island 8. Saskatchewan

9. Alberta 10. Newfoundland and Labrador

11. Northwest Territories 12. Yukon Territory

13. Nunavut

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ
(Governor General) ซึ่งปัจจุบันคือ นาง Michaëlle Jean (The Right Honourable
Michaëlle Jean)

นายกรัฐมนตรี นาย Stephen J. Harper (The Right Honourable Stephen J. Harper)

พรรคการเมือง มีพรรคการเมืองที่สำคัญ 4 พรรค ได้แก่

1. พรรค Conservative (เกิดจากการรวมตัวของพรรค Progressive Conservative (PC)
และพรรค Canadian Alliance แนวอนุรักษ์นิยม

2. พรรค Liberal (LP) แนวเสรีนิยมสายกลาง

3. พรรค New Democratic Party (NDP) แนวก้าวหน้า

4. พรรค Bloc Quebecois (BQ) มีนโยบายแยกมณฑลควิเบกเป็น ประเทศเอกราช






การเมืองการปกครอง
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองแคนาดาฝั่งตะวันออกในปี ค.ศ.1534 และได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในปี ค.ศ.1604 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1713 อันเนื่องจากเหตุผลด้านการประมงและการค้าขนสัตว์ ซึ่งในที่สุดดินแดนแคนาดาตกเป็นของอังกฤษ ปี ค.ศ.1849 แคนาดาได้รับการยอมรับในสิทธิการปกครองตนเอง และต่อมาปี ค.ศ.1867 ได้มีการจัดตั้ง Dominion of Canada ในลักษณะของสมาพันธรัฐซึ่งประกอบด้วย Upper และ Lower Canada (มณฑล Ontario, Quebec, Nova Scotia และ New Brunswick ในปัจจุบัน) และต่อมาได้ขยายออกไปยังมณฑลภาคตะวันตกจนถึงมณฑล British Columbia ปี ค.ศ.1931 แคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับอังกฤษโดยมีกษัตริย์อังกฤษเป็นพระประมุข และต่อมาในปี ค.ศ.1949 มณฑล New Foundland and Labrador เข้าร่วมเป็นมณฑลที่สิบของแคนาดา


การเมืองการปกครอง
การเมืองภายใน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 แคนาดาได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งที่ 39 จำนวน ส.ส. 308 ที่นั่ง ปรากฏว่าพรรค Conservative (พรรอนุรักษ์นิยม) ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดคือ 124 ที่นั่งจากทั้งหมด 308 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค Liberal (พรรครัฐบาล) ได้ 103 ที่นั่ง พรรค Bloc Quebecois ได้ 51 ที่นั่ง พรรค National Democratic Party (NDP) ได้ 29 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่งเป็นผู้สมัครอิสระ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนฐานอำนาจจากพรรค Liberal ซึ่งบริหารประเทศเป็นระยะเวลาต่อเนื่องถึง 12 ปี เป็นพรรค Conservative
แม้ว่าพรรค Conservative จะชนะการเลือกตั้ง แต่มีจำนวน ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด จึงทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยจำเป็นต้องหาแนวร่วมจากพรรคอื่นโดยเฉพาะพรรค NDP เพื่อสนับสนุนการลงมติในรัฐสภา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วย ส.ส. หน้าใหม่ที่มีอายุน้อยหลายคน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พรรค Conservative ชนะการเลือกตั้งโดยเฉพาะในมณฑลควิเบกซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรคมาโดยตลอด
พรรค Conservative ภายใต้การนำของนาย Stephen Harper มีนโยบายสนับสนุนการลดภาษีและปกป้องผลประโยชน์ของชาวแคนาดา สนับสนุนการขยายกำลังทหารเพื่อภารกิจรักษาสันติภาพในต่างประเทศและช่วยบรรเทาทุกข์ในกรณีเกิดภัยพิบัติ เน้นการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ลดปัญหาอาชญากรรม และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปรับปรุงการบริหารให้มีธรรมาภิบาล ซึ่งพรรค Conservative ใช้เป็นประเด็นโจมตีการบริหารรัฐบาลของพรรค Liberal ในระหว่างการหาเสียง อย่างไรก็ตาม พรรค Conservative ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีนโยบายคัดค้านกฎหมายอนุญาตการทำแท้ง คัดค้านการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน รวมทั้งมีนโยบายนิยมสหรัฐฯ (Neo-Conservative)

เมื่อ 14 ส.ค. 2550 นาย Stephen Harper นรม. แคนาดาได้ประกาศปรับ ครม. 9 ตำแหน่ง ดังนี้
1.) นาย Gordon O'Conner รมว. กห. เป็น รมว. National Revenue
2.) นาย Peter MacKay รมว. กต. เป็น รมว. กห.
3.) นาย Maxime Bernier รมว. อต. เป็น รมว. กต.
4.) นาย Chuck Strahl รมว. กษ. เป็น รมว. Indian Affairs and Northern Development
5.) นาย Jim Prentice รมว. Indian Affairs เป็น รมว. อต.
6.) นาง Josée Verner รมว. International Cooperation เป็น รมว. Canadian Heritage and Status of Women
7.) นาย Gerry Ritz, Secretay of State (Small Business and Tourism) เป็น รมว. กษ.
8.) นาง Diane Ablonczy, Parliamentary Secretary to the Finance Minister เป็น Secretay of State (Small Business and Tourism)
9.) นาง Bev Oda รมว.Canadian Heritage เป็น รมว. International Cooperation
ทั้งนี้ การปรับคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นการสลับตำแหน่ง มีเพียงนาง Carol Skelton รมว. National Revenue ซึ่งได้ประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งในครั้งหน้า ถูกปรับออก




เศรษฐกิจการค้า
เศรษฐกิจการค้า
แคนาดาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มจี 8 ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี จีนสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มจี 8 (G 8) ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญเนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่มีมาตรการการค้าที่เสรีและโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แคนาดาเป็นประเทศที่พึ่งพิงการค้ากับต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการค้าต่อ GDP ถึงร้อยละ 45 สำหรับการส่งออก และร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้า รูปแบบการค้าและการลงทุนของแคนาดาจะพึ่งพิงกับสหรัฐฯเป็นหลัก ทั้งสหรัฐฯและแคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดระหว่างกันทั้งการนำเข้าและการส่งออก อีกทั้งยังมีการจัดทำความตกลง North American Free Trade Agreement (NAFTA) ซึ่งยิ่งช่วยเสริมมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับระบบภาษีนำเข้าของแคนาดาประมาณ ร้อยละ 90 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 อีกทั้งยังให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศด้อยพัฒนา ยกเว้นในสินค้าประเภทนม สัตว์ปีกและไข่
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ถ่านหิน เหล็ก นิเกิ้ล โปแต๊ซ ยูเรเนียมและสังกะสี รวมทั้งป่าไม้
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่ เครื่องยนต์ รถยนต์ กระดาษ ไม้เนื้ออ่อน พลังงานปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า อลูมิเนียม อุปกรณ์สื่อสาร ชิ้นส่วนอากาศยาน ระบบคอมพิวเตอร์
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องยนต์ สินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และเยอรมนี
ภาคการบริการเป็นภาคกิจการที่สำคัญที่สุดของแคนาดา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารชั้นนำของแคนาดา 6 แห่ง เป็นหนึ่งใน 100 ธนาคารชั้นนำของโลก และมีสาขาอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ รวมถึงธนาคาร Nova Scotia ซึ่งมีสาขาอยู่ในไทยด้วย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ทำให้แคนาดาสามารถพัฒนาความก้าวหน้าในภาคกิจการนี้เป็นอย่างมาก
อุตสาหกรรมที่สำคัญของแคนาดา ได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า การสื่อสารและคมนาคม เหมืองแร่ และพลังงาน
การลงทุน
แคนาดาเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในทุกกิจการยกเว้นในบางกิจการ ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม การเงิน การขนส่ง และบริการด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังมีกิจการประเภทอื่นๆ ที่ห้ามการลงทุนหรือจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ การประมง ซึ่งอนุญาตเฉพาะชาวแคนาดาเท่านั้น การขนส่งทางอากาศ ซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน ร้อยละ 25 การผลิตและการจำหน่ายหนังสือ การกระจายเสียง (ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงและไม่เกินร้อยละ 33 ในกรณีที่เป็นบริษัทแม่) การจัดจำหน่ายภาพยนตร์ การจัดพิมพ์เอกสารไตรมาส บริการด้านการเงิน (มีข้อจำกัดด้านการถือหุ้นซึ่ง แตกต่างตามขนาดของสถาบันการเงิน และขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง) โทรคมนาคม (จำกัดการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกินร้อยละ 46.7) ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเอเปค แคนาดาจะต้องเปิดเสรีการค้าและการลงทุนภายในปี 2553
รัฐบาลแคนาดาได้ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้มีความสะดวกและเอื้ออำนวยต่อการ ลงทุนของต่างชาติตลอดเวลา รัฐบาลแคนาดาให้สิทธิประโยชน์เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่อการลงทุนในกิจการการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นกิจการเป้าหมายของรัฐบาลแคนาดา รัฐบาลแคนาดายังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับเทคโนโลยีเพื่อรองรับกับความต้องการของต่างชาติ นอกจากนี้ แรงงานแคนาดายังมีความรู้และมีประสิทธิภาพ และอัตราการย้ายงานมีต่ำมาก
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในแคนาดาเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะลงทุนในกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ได้แก่ กิจการพลังงานและเหมืองแร่
กิจการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ได้แก่ กิจการด้านการเงินและประกันภัย กิจการพลังงาน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่ากิจการในอุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มที่จะมีการลงทุนทางตรงจากต่างชาติในแคนาดาเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น หลายบริษัทจะเป็นลักษณะของการควบและรวมกิจการ (M&A) เช่น ในกิจการน้ำมัน และเหมืองแร่ ส่วนการลงทุนทางตรงของแคนาดาในต่างประเทศจะลงทุนมากที่สุดในสหรัฐฯ
แคนาดาออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก และมีแนวโน้มจะออกไป ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ความสนใจต่อสหภาพยุโรปมากขึ้นเป็นลำดับ กิจการที่แคนาดาให้ความสนใจ ได้แก่ พลังงาน โลหะ การเงินและประกันภัย เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนของแคนาดาในต่างประเทศจะเปลี่ยนจากการลงทุนในกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไปสู่การลงทุนในการผลิตเครื่องจักรกล การขนส่ง การเงินและการประกันภัย ภาคบริการและการค้าปลีก ดังนั้น จะพบว่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในแคนาดาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่การลงทุนทางตรงในต่างประเทศของแคนาดาให้ความสนใจในกิจการด้านการเงินและการประกันภัย
สังคม
สังคมของแคนาดาเป็นสังคมที่มีส่วนผสมของชนชาติต่างๆ มากมาย โดยชนชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1991-2000 คือคนจากเอเชีย (จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59.5 ของคนเข้าเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานในแคนาดา โดยในปี ค.ศ. 1962 รัฐสภาแคนาดาได้ออกกฎหมายคนเข้าเมืองตามข้อเสนอของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนทุกวันนี้ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือการยกเลิกการเลือกประติบัติ (ก่อนหน้านี้ มีการออกกฎหมายปี ค.ศ. 1887 เพื่อกีดกันการเข้าเมืองของคนจีน และต่อมาปี ค.ศ. 1910 ได้ออกกฎหมายที่ใช้หลักการแหล่งกำเนิด แบ่งเป็น preferred ซึ่งคือ กลุ่มคนยุโรป และ non-preferred ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ยุโรป) กล่าวคือ การเปิดรับคนเข้าเมืองจากทุกที่อย่างเป็นทางการทั่วไป และการใช้วิธีการคิดคะแนนประเมินน้ำหนัก (point system) ว่าสมควรรับผู้ใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานในแคนาดา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แคนาดามองเรื่องการรับคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นการถาวร เพื่อเป็นฐานการเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลของแคนาดา
ค่านิยมหลักของสังคมแคนาดาที่ฝังลึกในทุกคนคือการส่งเสริม และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สังคมแคนาดาจะสนใจอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในประเทศที่มีระบอบการปกครองที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแคนาดา
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแคนาดา
ด้านการทูต
ไทยและแคนาดาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเป็นเวลา 46 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2504 และเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงออตตาวา มีเขตอาณาครอบคลุมเกรนาดา และตรินิแดดและโตเบโก รวมทั้งได้จัดตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ โดยมีนายโฆษิต ฉัตรไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่เพื่อดูแลมณฑลด้านตะวันตกของแคนาดา เอกอัครราชทูตไทยคนปัจจุบันคือ นายสนั่นชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมพม่าและลาว โดยเอกอัครราชทูตแคนาดาคนปัจจุบันคือ นาย Denis Comeau ซึ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547

ด้านการเมือง
ไทยกับแคนาดามีแนวนโยบายที่สอดคล้องกัน โดยยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านความมั่นคงมนุษย์ ปัญหาความยากจน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และช่วงหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ไทยให้ความร่วมมือในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของแคนาดาที่ได้ยกระดับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นเป็นอันดับแรกของนโยบายต่างประเทศเช่นเดียวกับสหรัฐฯ

ไทยกับแคนาดาได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในฐานะประเทศผู้ริเริ่มให้ความสำคัญในประเด็นทางด้านสังคมและการพัฒนา ได้แก่ โครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network: HSN) และการเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-personnel Mines and on Their Destruction)

ด้านการค้า
มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับแคนาดาในปี 2548 รวม 1,559.4 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 ไทยเกินดุลการค้า 511.3 ล้าน USD
- ไทยส่งออก 1,238.7 ล้าน USD เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 19.65 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548-2549 ปริมาณการค้ารวมระหว่างไทยกับแคนาดามีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2549 การค้าระหว่างไทยและแคนาดามีมูลค่า 1,714.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.67 จากปี 2548 และคิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ทั้งนี้ แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 26 ของไทย
การส่งออกสินค้าจากไทยไปแคนาดามีมูลค่า 1,238.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 19.65 การนำเข้าสินค้าจากแคนาดามาไทยมีมูลค่า 502.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2548 ร้อยละ 4.06 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปแคนาดาในปี 2549 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และกุ้งสดและกุ้งแช่แข็ง
- ไทยนำเข้า 524.0 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากแคนาดาในปี ๒๕๔๙ ได้แก่ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
มณฑลที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้แก่ มณฑลออนแทรีโอ บริติชโคลัมเบีย ควิเบก และแอลเบอร์ตา อย่างไรก็ดี ไทยมีคู่แข่งจากเอเชียที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย


ด้านการลงทุน
การลงทุนของแคนาดาในไทยมีไม่มากนัก ระหว่างปี ๒๕๒๘-๒๕๔๙ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและดำเนินการแล้วมีจำนวน ๕๐ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๓๓,๔๗๖.๗ ล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนของแคนาดาในไทยเป็นการลงทุนขนาดเล็กต่ำกว่า ๕๐ ล้านบาท มีเพียงบริษัท Celestica (Thailand) จำกัดที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งขยายฐานการผลิตมาไทย ประเทศในเอเชียที่นักลงทุนแคนาดาสนใจเข้าไปลงทุนได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกงตามลำดับ และคาดว่า ในอนาคตไทยไม่ใช่แหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญสำหรับแคนาดา อย่างไรก็ดี แคนาดาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านชีวภาพและบริการด้านการแพทย์ ซึ่งจะเป็น ประโยชน์ต่อไทยในการยกระดับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และเพิ่มความเข้มแข็งในการแข่งขันในตลาดโลกได้ หากมีความร่วมมือในด้านการลงทุนมากขึ้น จากสถิติการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โครงการลงทุนจากแคนาดาที่ได้รับอนุมัติในปี ๒๕๔๙ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒ โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสุทธิ ๓๔.๓ ล้านบาท


ด้านการพัฒนา
แคนาดาได้ยกระดับความสัมพันธ์กับไทยจากเดิมในรูปแบบประเทศผู้ให้กับประเทศผู้รับเป็นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (Partnership) เนื่องจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่สูงขึ้น จึงเอื้ออำนวยที่ไทยจะมีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับแคนาดาในการดำเนินนโยบายส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์และเป็นที่สนใจร่วมกัน ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและวิชาการด้านการป้องกันประเทศ การปราบปรามยาเสพติด การลักลอบค้ามนุษย์ และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น
ในช่วงเหตุการณ์คลื่นสึนามิแคนาดาได้ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ระยะแรกในการช่วยค้นหาและกู้ภัย โดยได้ส่งคณะแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและจิตเวชประมาณ ๒๑ คนมายังภาคใต้ และในระยะฟื้นฟู CIDA จะร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จัดทำโครงการฟื้นฟูบูรณะชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรใต้ทะเล และการฟื้นฟูชายฝั่งทะเล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอและวางแผนจัดทำโครงการ


ด้านการท่องเที่ยว
แคนาดาเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญจากภูมิภาคอเมริกา โดยในปี 2004 มีนักท่องเที่ยวแคนาดาไปเที่ยวประเทศไทยประมาณ 120,000 คน ระยะเวลาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 12 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันในประเทศไทยประมาณ 75 ดอลลาร์แคนาดา ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดของการจับจ่ายสินค้า จึงกล่าวได้ว่า แนวโน้มของตลาดแคนาดาค่อนข้างดีสำหรับไทย

ด้านกงสุล
ปัจจุบันมีคนไทยในแคนาดาประมาณ ๘,๐๐๐ คน โดยมลฑลที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด คือ มณฑลออนแทรีโอประมาณ ๓,๕๕๐ คน (โดยมากอาศัยอยู่ที่นครโทรอนโตและกรุงออตตาวา) มณฑลบริติชโคลัมเบียประมาณ ๑,๘๑๐ (โดยมากอาศัยอยู่ที่นครแวนคูเวอร์) และมณฑลควิเบกประมาณ ๑,๓๘๕ คน (โดยมากอาศัยอยู่ที่เมืองมอนทรีออล) ตามลำดับสาขาที่คนไทยเข้าไปประกอบอาชีพและลงทุนในแคนาดา ได้แก่ ร้านอาหารไทยซึ่งมีจำนวนประมาณ ๒๒๕ ร้านทั่วแคนาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นครโทรอนโตซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐๒ ร้าน กรุงออตตาวาประมาณ ๒๐ ร้าน และนครแวนคูเวอร์ประมาณ ๕๐ ร้าน
คนไทยส่วนใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ติดตามคู่สมรสชาวแคนาดามาอยู่แคนาดา หลายคนมีส่วนสำคัญในการช่วยงานสมาคมไทยในเมืองต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปศึกษาในแคนาดาและตัดสินใจตั้งถิ่นฐาน ทำงานในแคนาดา บ้างเป็นอาจารย์ บ้างทำงานเป็นพนักงานรัฐบาลแคนาดา และได้รวมตัวจัดตั้งสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ และแคนาดา (Association of Thai Professional in America and Canada - ATPAC)
สืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านเกษตรในแคนาดา ทำให้แคนาดามีความต้องการแรงงานจากต่างประเทศ โดยได้กำหนดให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานในฟาร์มเกษตร ลักษณะแรงงานตามฤดูกาล (seasonal workers) และให้ทำงานได้คราวละไม่เกิน ๑ ปี โดยขณะนี้มีแรงงานเกษตรของไทยเข้าไปทำงานในแคนาดาประมาณ ๕๐๐ คน ไทยและแคนาดามีความแตกต่างในมุมมองเกี่ยวกับ แรงงานไทยในแคนาดา โดยฝ่ายไทยมองถึงการขยายตลาดแรงงานไทยไปต่างประเทศ แต่แคนาดามองในแง่การตั้งถิ่นฐานของคนต่างชาติในแคนาดา ซึ่งจะเป็นฐานเสียภาษีให้แคนาดาต่อไป

กงสุลกิตติมศักดิ์
กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในแคนาดา
1. Mr. Louis P. Desmarais
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมอนทรีออล (มณฑลควิเบก)
2. Mr. Horst Gergen Paul Koehler
รองกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแวนคูเวอร์ (มณฑลบริติชโคลัมเบีย)
3. Mr.Richard C. Meech
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครโทรอนโต (มณฑลออนแทรีโอ)
4. Mr. William A. Dickinson
กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครโทรอนโต (มณฑลออนแทรีโอ)
5. Mr. John R. Lacey
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแคลการี (มณฑลอัลเบอร์ตา)
6. Mr. Dennis L. Anderson
กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)
7. Mr. Dennis G. Laliberte
รองกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)

กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาในไทย
นายนิตย์ วังวิวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1994 นายนิตย์ฯ เป็นเจ้าของบริษัท Chiangmai Thai-Canadian Venture และเป็นประธานสมาคมผู้ผลิตชาแห่งประเทศไทย

ความตกลงเมืองพี่เมืองน้องกับแคนาดา (ที่ลงนามแล้ว)
เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี-เมือง Courtenay 8 กรกฎาคม 2537
เทศบาลนครเชียงใหม่-เมืองโอซาวา มลรัฐโตรอนโต 7 พฤศจิกายน 2540
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
2.1 ความตกลงด้านการพาณิชย์ (Exchange of Notes on Commerce) ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2512
2.2 ความตกลงประกันภัยการลงทุนต่างประเทศ ค.ศ. 1983 (Exchange of Notes Constituting an Agreement Relating to Canadian Investment Insurance Agreement) ลงนามเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2526
2.3 อนุสัญญาว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (Convention for the Avoidance of Double Taxation) ลงนามเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2528
2.4 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-แคนาดา (Agreement of Economic Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Canada) ลงนามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-แคนาดา เมื่อเดือนมิถุนายน 2539
2.5 ข้อตกลงทวิภาคีสิ่งทอเพื่อควบคุมปริมาณการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอไปแคนาดา ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ได้ถูกผนวกเข้ากับความตกลงว่าด้วยสิ่งทอและเสื้อผ้าภายใต้ WTO (Agreement on Textile and Clothing : ATC) และกำหนดยกเลิกโควต้าภายใน 10 ปี
2.6 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540
2.7 ความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมกันในเรื่องการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ และระบบควบคุม (Mutual Recognition Agreement on the Equivalence of Fish Inspection and Control System : MRA) ลงนามเมื่อวันที่ 9 เมษายน2540
2.8 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดา ลงนามเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2540
2.9 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ลงนามเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540
2.10 บันทึกความเข้าใจว่าด้วย CIDA Regional Project Southeast Asia Fund for Institutional and Legal Development ลงนามเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น