Bangkok, Thailand


วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยี่เปลี่ยนเร็ว ดูแลสุขภาพต้องปรับให้ทัน

เทคโนโลยี่เปลี่ยนเร็ว ดูแลสุขภาพต้องปรับให้ทัน

ผศ.ดร.นพ.เทอดศักดิ์ โรจน์สุรกิตติ
ประธานกรรมการบริหาร​ บริษัท​ โรงพยาบาลเอกชล​ จำกัด​ (มหาชน)

โลกยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงแบบ ก้าวกระโดด (exponential) ซึ่งเป็นผลมาจาก การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์ (computer) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หุ่นยนต์ (robotics) นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) การพิมพ์สามมิติ (3D printing) ไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) เกิดการประสานพลัง (synergism) จนเกิดความก้าวหน้าอย่างเฉียบพลัน องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะล้าสมัยและอาจ ล้มหายตายจากไปชั่วเวลาข้ามคืน

การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์ สามารถเข้าถึงความรู้ รับรู้ แลกเปลี่ยน และส่งต่อ ข้อมูล และถูกเชื่อมโยงด้วยเครือข่ายผ่านระบบ ดิจิทัล ทำให้ระยะทาง เวลาสั้นลง   เส้นแบ่งระหว่าง เขตแดนหายไป (borderless) ดังที่ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon E. Moor) หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทอินเทล (Intel) และผู้คิดค้นไมโครชิป (microchip)  ได้กล่าวไว้ว่า ความสามารถในการย่อให้ขนาดของไมโครชิปเล็กลง จะทำให้ปริมาณทรานซิสเตอร์บนแผงวงจรเพิ่มขึ้นเท่าตัว

 จึงทำให้ความสามารถในการ ประมวลผล (processing power) เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทุก 2 ปี (Moor’s law)  ทำให้ เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว   ในลักษณะของ exponential ในขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่ยังมีการพัฒนาเป็นเส้นตรง (linear) จึงไม่ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน 

ผลจากการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบต่อการ เปลี่ยนแปลงในธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่ว โลก โดยได้มีการคาดการณ์ อภิมหาแนวโน้มของ การเปลี่ยนแปลงของโลกหลัก ๆ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร (Demographic Shift) มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน การกระจายตัวของประชากร และพัฒนา ความเป็นอยู่ของสังคมชนบทสู่สังคมเมือง (urbanization) นอกจากนี้ยังพบว่า ด้วยการสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้สัดส่วน ประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น โลกได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (ageing society)

2. การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและ กฎหมาย (political shift) อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ (globalization) ทำให้โลกไร้พรมแดน   จึงมีความจำเป็นต้องปรับใช้กฎหมายและกติกาที่เป็นสากล รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องปรับให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว เช่น การเกิด blockchain เกิดการชำระเงิน online ที่ไม่มีตัวกลางหรือภาครัฐที่เป็นผู้ควบคุม การเกิด นาโนเทคโนโลยี ที่มีทั้งประโยชน์และอาจเป็นภัย  ถ้านำมาใช้ในทางที่ผิด
จึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย ควบคุม หรือ การใช้ CRISP CAS (molecular scissors) ในการตัดต่อ DNA ซึ่งอาจมีปัญหาจริยธรรมถ้านำมาใช้ใน germ cell จึงต้องมี กระบวนการพิจารณา การวางแผน การบังคับใช้ นโยบาย ข้อกำหนดที่เหมาะสม สอดคล้องและ ทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลง

3. การเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี (Science and Technology Shift) เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีในทุก ๆ ด้านอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนา และประยุกต์ใช้งานวิจัยในหลายสาขา เช่น วิศวกรรมชีวการแพทย์ (biomedical engineering) ดีเอ็นเอ เซลล์ตัวอ่อน (stem cell) การตัดแต่ง พันธุกรรม (genetic engineering) พลังงาน ทดแทน จนทำให้ความก้าวหน้าโดยรวมเป็นไป อย่างก้าวกระโดด

4. การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ (economic dynamics) กระแสโลกาภิวัตน์ช่วย ให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสาร หรือไปมาหาสู่จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย เกิดการเคลื่อนย้ายปริมาณเงินจำนวนมหาศาลได้ ด้วยปลายนิ้วผ่านสื่ออิเลคโทรนิคในเวลา อันรวดเร็ว เศรษฐกิจระหว่างรัฐเริ่มตกอยู่ในมือ ของบริษัทข้ามชาติ (corporate) ทรัพย์สินของเศรษฐีอันดับต้น ๆ หรือ บางบริษัทมากกว่า GDP ของบางประเทศ เส้นแบ่งระหว่างประเทศเริ่ม เลือนลางทำให้การพัฒนาการผลิต การแลกเปลี่ยน สินค้าและบริการ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น เกิดข้อตกลงร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ เขตการค้าเสรี

5. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและ วัฒนธรรม (social and cultural shift) มีการ ผสมผสานระหว่างค่านิยม ความเชื่อ และศาสนา ระหว่างประเทศในแถบตะวันตกและตะวันออก

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจสุขภาพ ในส่วนของธุรกิจบริการสุขภาพ (healthcare business) ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีด้านสุขภาพและนวัตกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์​(artificial intelligence: AI) หุ่นยนต์ทางการแพทย์ การพิมพ์สามมิติ (3-D printing) เทคโนโลยีวัสดุนาโน (nanotechnology) เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) อุปกรณ์ ติดตาม (wearable device) ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการให้การวินิจฉัย รักษา ติดตามผู้ป่วย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน   ทักษะของแพทย์และสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

การบริการทางการแพทย์ในปัจจุบัน เป็นการรักษาโรค (disease) ซึ่งเป็นการรักษา ปลายทาง  ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว แนวโน้มการ บริการสุขภาพในปัจจุบันมีการให้ความสำคัญในการค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก (early detection) ค้นหาบุคคลกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk group) ที่อาจเกิดโรค ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพให้ คนมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ทิศทาง  การให้บริการด้านสุขภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงใน ทุกด้านจากที่กล่าวข้างต้น อาทิเช่น รูปแบบการให้ การรักษาตามอาการแสดงของโรค เช่น ในผู้ป่วย มะเร็งมักได้รับยาเคมีบำบัดซึ่งอาจไม่ตอบสนองต่อ การรักษาและอาจเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรงใน บางราย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราสามารถตรวจ ลงไปถึงระดับยีนส์ รวมทั้งการแสดงออกของยีนส์ (gene expression) จนสามารถหายาที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งของแต่ละบุคคล (precision medicine) ได้มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้การรักษาโดยแพทย์เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ เป็น การให้ผู้ป่วยและญาติร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ ตัดสินใจ เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้ให้การรักษากับผู้รับการรักษา

การรักษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่เฉพาะเจาะจงต้องอยู่ภายในโรงพยาบาล มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง แผลผ่าตัด เล็กลง (minimal invasive surgery) หรือการผ่าตัดร่วมกับการใช้หุ่นยนต์ (robotic surgery) ตลอดจนการใช้ข้อมูลสารสนเทศเข้ามามีส่วนช่วย ในการให้บริการทางการแพทย์

การแข่งขันในธุรกิจสุขภาพ จึงเป็นไปอย่างเข้มข้นทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยี และนวัตกรรม คุณภาพในการรักษาพยาบาล การบริการ เป็นต้น จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากบริการสุขภาพแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายใน ด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและความต้องการผู้บริโภค

จึงเกิดกระแสของ ‘VUCA World’ Volatility (V) บริบทหรือสภาวะแวดล้อมที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Uncertainty (U) ความ ไม่แน่นอนของสิ่งต่างๆ Complexity (C) ความ ซับซ้อนของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ Ambiguity (A) ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนของปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็น คำที่ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสถานการณ์ สงครามในช่วงสงครามเย็นและได้ขยายมาสู่แวดวงการบริหารองค์กรมากขึ้น ความไม่แน่นอน

      ภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในการบริหารจัดการไม่ว่าใน ภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด  ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ท้าท้ายองค์กรและผู้นำองค์กร และยังไม่มีสูตรสำเร็จ หรือยุทธศาสตร์ในการบริหารภาวะที่ไม่แน่นอน และมีความคลุมเครือนี้ 

ผู้นำจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ทิศทางองค์กรให้ทันท่วงทีกับการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ใช้ทักษะการบริหารที่ ผสมผสานรอบด้าน

    ผู้นำต้องเปิดใจและยอมรับว่า การบริหารองค์กรในภาวะที่ไม่ชัดเจนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องมีความมั่นใจในการวางยุทธศาสตร์และนำองค์กร เพื่อให้สามารถอยู่รอดในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ได้